ในยุคที่สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ซึ่งหมายความว่าในประชากร 5 คนจะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 1 คน ซึ่งไทยเราจัดว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยอัตราเร่งกว่าหลายประเทศ เป็นอันดับต้นต้นในภูมิภาคด้วยซ้ำ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากร แต่เราต้องตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า
เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสวัสดิการและความพร้อมต่างๆมากน้อยแค่ไหน เพียงพอที่จะรองรับและดูแลโดยเฉพาะด้านสุขภาพและการสาธารณสุขให้กับประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ ? หรือ AI จะคือคำตอบในการแก้ปัญหา ?
หากเราพูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ถูกพัฒนามาใช้ในหลายๆด้าน เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เช่น การใช้ AI ในการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่อัจฉริยะ ได้แก่ นาฬิกาอัจฉริยะ สร้อยข้อมือ หรือแม้กระทั่งแผ่นรองเท้าที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด และการนอนหลับได้ ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังผู้ดูแลหรือแพทย์ เพื่อทำการวิเคราะห์และประเมินสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
นอกจากนี้ AI ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทางการแพทย์ ด้วยการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจำนวนมากจากฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วย เพื่อช่วยแพทย์ในการจัดทำแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละบุคคล หรือช่วยรวมถึงการพยากรณ์โรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (ตราบที่เรายังมีการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ)
หรือแม้แต่การใช้หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดจากการพัฒนา AI หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถช่วยให้ยา, ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว และเป็นเพื่อนที่ให้ความบันเทิง ซึ่งไม่เพียงแต่ลดภาระของผู้ดูแล แต่ยังช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีอิสระและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อเราถามว่า เราวางโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุได้พร้อมแล้วหรือยัง ก็ต้องถามต่อว่า
1) เรามีการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบมากเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI แล้วหรือยัง ประการต่อมา
2) เรามีการวางกฎระเบียบด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการดูแลสังคมผู้สูงอายุแล้วหรือยัง เพราะในอนาคตเรื่องเทคโนโลยีกับสังคมผู้สูงอายุจะแยกกันไม่ออกและต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยต้องเตรียมพร้อมในการรองรับเพื่อการปรับใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องพิจารณาถึงปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวข้อมูล ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี และความจำเป็นในการมีมาตรฐานในการกำกับดูแลการใช้งาน AI ซึ่งการมีกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมจะเป็นส่วนสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ผมขอยกตัวอย่าง “นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” เพียงนำบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถใช้ติดต่อสถานพยาบาลแห่งต่างๆได้ไม่จำเป็นต้องขอใบส่งตัวเหมือนกับในอดีต เพราะในทางปฏิบัติพอแรงงานมีการย้ายถิ่นเช่นไปทำงานที่กรุงเทพ แต่สิทธิ์อยู่ที่ต่างจังหวัดก็ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั่นเอง
นโยบายนี้จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อยืนยันสิทธิ์และได้รับบริการอย่างไร้รอยต่อ ต่างกับในอดีตที่หน่วยบริการซึ่งได้รับการอุดหนุนรายหัวก็จะไม่สามารถให้บริการได้ถ้าประชากรท่านนั้นไม่ได้มีสิทธิ์อยู่ในหน่วยบริการนั้น เป็นต้น
นี่ยังไม่ถึงขั้น AI กว่าที่เราจะคลอดนโยบายนี้ ต้องมีการขับเคลื่อนทั้งกฎระเบียบนโยบายหรือแม้กระทั่งคนมากขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนคือ พื้นฐานของการประมวลผลข้อมูลโดยเฉพาะ Big Data นั้น การเก็บและประมวลผลข้อมูลมีความสำคัญอย่างมาก
ดังนั้น AI เพื่อการดูแลสุขภาพ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติการดูแลผู้สูงอายุ ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลที่ดีขึ้น มีคุณภาพสูงและเป็นส่วนตัวมากขึ้น หากแต่เราต้องคิดและวางแผนตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,994 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567